สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อเอาชีวิตรอดจากเพลิงไหม้ในบ้าน

สิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อเอาชีวิตรอดจากเพลิงไหม้ในบ้าน
1.รีบออกจากบ้านทันที อย่าลังเล
2.ถ้าต้องฝ่าควันเพื่อหนีไฟ ให้ก้มตัวลงต่ำ หรือใช้คลานเพราะอากาศใกล้พื้นมีมากกว่าด้านบน
3.หายใจสั้นๆ 
4.ก่อนหนีไฟ ให้แน่ใจว่าเด็กๆ สามารถเปิดประตู หน้าต่างได้ ถ้ามีควันที่บันไดและทางเดินมาก ให้ใช้บันไดหนีไฟ
5.ให้ทุกคนในบ้านรู้เส้นทางที่หนีไฟเร็วที่สุด และควรวางไฟฉายไว้ข้างเตียงเสมอ เพื่อใช้ส่องทางหนีไฟในความมืด
6.ฝึกการหนีไฟให้คนในบ้านเป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กๆ 
7.ถ้าติดอยู่ในห้อง และมีควันมาก ให้คลานมาที่หน้าต่างและตะโกนขอความช่วยเหลือ หายใจเอาอากาศบริสุทธิ์
8.ใช้มือแตะประตูทุกบานก่อนเปิด ถ้าบานไหนร้อนอย่าเปิด เพราะมีไฟอยู่ 
9.ถ้าหนีออกไปไม่ได้ ให้ยืนหลังประตูที่ปิดอยู่ และให้เปิดหน้าต่างบานบนเพื่อไล่ควันและความร้อน
10.ถ้าไม่แน่ใจอย่าพยายามดับไฟ ให้หนีเอาตัวรอดก่อน
11.อย่าหนีไฟด้วยการกระโดดตึก เพราะอาจเสียชีวิตได้

 

การเอาตัวรอดจากไฟไหม้ ความรู้ที่ควรมีติดตัว

สถานการณ์ไฟไหม้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นฉับพลันและสามารถคร่าชีวิตผู้ประสบภัยได้ ทำให้ทุกคนไม่ว่าใครก็ตามควรมีความรู้เบื้องต้นในการเอาตัวรอดจากไฟไหม้ติดตัวไว้ใช้ในยามคับขัน

สาเหตุการตายจากสถานการณ์ไฟไหม้

  • ร่างกายถูกเผาไหม้
  • ในควันไฟจะมีเขม่าต่าง ๆ ที่ไปอุดตันทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตในที่สุด
  • ควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่เกิดจากเผาไหม้เบาะและพลาสติก สาร 2 ชนิดนี้ หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะไปจับตัวกับฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นเม็ดเลือดที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้ไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้และเสียชีวิตในที่สุด
  • สารอื่น เช่น ไฮโดรเจนคลอไรด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ท่อพีวีซี และสารไนตริกออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้พวกพอลิเมอร์ ทำให้ระคายเคืองบริเวณต่าง ๆ เช่น ระคายเคืองตา ทำให้แสบตา และหากไปโดนเยื่อบุที่สำคัญอย่างเยื่อบุทางเดินหายใจก็จะทำให้เสียชีวิตได้
  • ไอร้อนที่เกิดจากความร้อน หากสูดดมมาก ๆ จะทำให้ทางเดินหายใจบวมส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและเสียชีวิตได้
  • เมื่อผิวหนังถูกเผาไหม้รุนแรง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย หรืออาจทำให้ร่างกายสูญเสียในน้ำปริมาณมาก และเสียชีวิตลงในที่สุด
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุจากการหลบหนี เป็นต้น

การช่วยเหลือผู้อื่นจากสถานการณ์ไฟไหม้

  • หากอยู่ในสถานการณ์คับขันให้รีบพาผู้ประสบภัยออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
  • หากเพลิงไหม้สงบลงแล้ว การช่วยเหลือผู้ประสบภัยควรดูแลเรื่องกระดูกต้นคอเป็นหัวใจสำคัญ โดยการขนย้ายด้วยเปลหรือเบาะ อย่าหิ้วแขนหรือยกศีรษะห้อยลงในขณะเคลื่อนย้าย เพราะอาจทำให้กระดูกเคลื่อนได้
  • กรณีที่ผู้ประสบภัยถูกไฟครอกจนเสียหายรุนแรง หลังช่วยเหลือออกจากที่เกิดเหตุได้แล้ว ให้รีบถอดหรือตัดเสื้อผ้าออกจากร่างกายผู้ประสบภัย เพราะเสื้อผ้าจะอมความร้อนเอาไว้มาก แต่อย่าใช้วิธีกระชาก เพราะเนื้อผ้าบางส่วนอาจติดที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกมาด้วย
  • ถอดเครื่องประดับ เช่น นาฬิกาข้อมือ กำไล ต่างหู ออกจากตัวผู้ประสบภัย เพราะของเหล่านี้อมความร้อนจะทำให้เกิดการพอง
  • ใช้น้ำสะอาดอุณหภูมิปกติรดตัวผู้ประสบภัย เพื่อลดความร้อนให้กับร่างกาย
  • ใช้ผ้าชุบน้ำห่มตัวผู้ประสบภัยไว้ก่อน แล้วนำผ้าบางคลุมอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
  • หากที่เกิดเหตุและโรงพยาบาลอยู่ไกลให้ผู้ประสบภัยดื่มน้ำก่อน เพราะผู้ประสบภัยมักจะมีภาวะขาดน้ำ แต่ถ้าโรงพยาบาลอยู่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุมากนักให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
  • รีบเปิดทางเดินหายใจให้ผู้ประสบภัยหลังนำตัวออกมาจากที่เกิดเหตุ

วิธีการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ไฟไหม้

  1. ตั้งสติแล้วรีบพาตัวเองออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
  2. พยายามหลีกเลี่ยงการสูดควันต่าง ๆ เข้าไป เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ทั้งยังได้รับสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
  3. เอาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว จากนั้นรีบหาทางออกมาจากที่เกิดเหตุ
  4. หากอยู่ในห้อง อย่าเพิ่งรีบเปิดประตู ควรจับประตูก่อนเพื่อดูว่าร้อนหรือไม่ หากรู้สึกร้อนนั่นหมายถึงอาจมีไฟอยู่หลังประตู จึงไม่ควรเปิดเพราะจะทำให้ควันไฟเข้าห้อง ควรหาผ้าหรืออื่น ๆ มาอุดตรงประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาในห้องได้
  5. หากติดอยู่ในห้องพยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เช่น ส่องไฟมือถือออกไปทางหน้าต่าง เพื่อให้ภายนอกรู้ว่ามีคนต้องการความช่วยเหลืออยู่
  6. หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ ควรใช้บันไดหนีไฟแทน
  7. หลีกเลี่ยงการวิ่งหนีเข้าจุดอับ
  8. ระหว่างหาทางออกจากที่เกิดเหตุ หากมีควันมากพยายามก้มต่ำหรือคลาน เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ที่ต่ำ

ควรปฏิบัติอย่างไรก่อนเกิดเหตุไฟไหม้

ไม่ว่าจะเข้าพักที่ใดก็ตาม ทั้งการเช่าอยู่ห้องพักระยะยาวและระยะสั้น ควรสังเกตทางหนีไฟและจดจำตำแหน่งเอาไว้อย่างแม่นยำ เพื่อที่เวลาเกิดเหตุจะได้พาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุได้ทันเวลา เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประสบภัยหลายรายไม่ได้จดจำทางหนีไฟเอาไว้ ทำให้เมื่อเกิดเหตุไม่สามารถหลบหนีได้ทันเวลา

 

CR : https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%94%e0%b8%88%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%84%e0%b8%9f%e0%b9%84%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%89-%e0%b8%84/

Visitors: 389,257